สัญญาณโรคหลอดเลือดหัวใจ -เบญจออยล์
  • 18 สิงหาคม 2020 at 16:28
  • 3341
  • 0

 

สัญญาณโรคหลอดเลือดหัวใจ

เนื่องจากการสะสมของไขมันที่ผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจตีบลง
ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจจึงทำงานผิดปกติ

เมื่อหลอดเลือดมีการตีบแคบลง จะทำให้เลือดซึ่งนำออกซิเจนไหลผ่านได้น้อยลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น หากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดเฉียบพลันซึ่งมักเกิดจากคราบไขมันที่สะสมอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดชั้นในแตกออกและกลายเป็นลิ่มเลือดจะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอันนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หรือเสียชีวิตกะทันหันได้

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมีสาเหตุจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องโดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงเดียวหรือหลายปัจจัยเสี่ยงรวมกันก็ได้ ดังนี้

1. น้ำหนักเกินและอ้วน การปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การมีดัชนีมวลกายที่มากขึ้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

2. ภาวะความดันโลหิตสูง มีเกณฑ์ในการวินิจฉัย คือ มีค่าสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้พบว่าการรับประทานเกลือโซเดียมมากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย

3. ความเครียด ปัจจัยทางด้านความเครียด 5 ประการที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ สภาพจิตใจที่โศกเศร้ามีความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานานติดต่อกันและยังไม่สามารถจัดการกับสาเหตุของความเครียดนั้นได้

4. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังส่งผลให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้เซลล์เยื่อบุภายในหลอดเลือดทำงานผิดปกติ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งซึ่งทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเสื่อมสภาพและถูกทำลาย และก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้

5. ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ คือ ระดับไขมันในเลือดที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงตีบตัน ระดับไขมันในเลือดที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ไม่เป็นโรคหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านไขมันผิดปกติและควรใช้เป็นค่าสำหรับควบคุมตัวเองในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ ระดับคอเลสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL-C) หรือไขมันตัวร้ายน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL-C) หรือไขมันตัวดีมากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง และมากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และระดับไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

6. การไม่ออกกำลังกาย พบว่าการไม่มีกิจกรรมทางกายหรือการไม่ออกกำลังกายจะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า

7. การรับประทานผักและผลไม้ในแต่ละวันน้อยเกินไป พบว่าปัจจุบันนี้คนเรารับประทานอาหารที่มีรสหวาน อาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูง แต่รับประทานผักและผลไม้น้อย ซึ่งเป็นผลก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้

8. การสูบบุหรี่ หมายความถึงผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น (ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง) ผู้ที่บริโภคยาสูบแบบไม่มีควัน เช่น ยาฉุน ยาเส้น รวมถึงผู้ที่เคยสูบบุหรี่ติดต่อกันมาเป็นเวลานานและเพิ่งหยุดสูบได้ไม่นาน พบว่าผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า เนื่องจากสารพิษในบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค