หน้ากากแบบไหน ป้องกัน PM 2.5

 

หน้ากากแบบไหน ป้องกัน PM 2.5 

 

ค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลนานหลายวัน และยังไม่มีทีท่าว่ากลับสู่สถานการณ์ปกติลงง่าย ๆ อีกทั้งหน้ากาก N95 ที่สามารถป้องฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อย่างดีก็เริ่มขาดตลาด หลายแห่งเริ่มหาซื้อยาก และจำกัดจำนวนขายต่อคน แบบนี้จะใช้หน้ากากชนิดใดแทนได้บ้าง  รายงานวิจัยโครงการการพัฒนาชุดความรู้ด้านประสิทธิภาพของหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก โดย ศ.ดร.อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.ขนิษฐา พันธุรี คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงผลการทดสอบประสิทธิภาพของหน้ากากชนิดต่างๆ ระบุว่า  

หน้ากาก N95 สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ดีที่สุด หรือป้องกันได้  90.82%  

หน้ากากธรรมดาประกบกับกระดาษทิชชู 2 แผ่น สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้มีประสิทธิภาพพอๆ กัน ป้องกันได้ 90.80%  

หน้ากากธรรมดาประกบกับหน้าเช็ดหน้าป้องกัน PM 2.5 ได้ 49.60%  

หน้ากากธรรมดาอย่างเดียวป้องกัน PM 2.5 ได้ 48.08% 

 ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑลยังสูงเกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง วันนี้หลายพื้นที่มีปริมาณฝุ่นพิษอยู่ในระดับ  

“เริ่มมีผลต่อสุขภาพ” และ “มีผลต่อสุขภาพ” ประชาชนจึงจำเป็นต้องสวมหน้ากาก เพื่อป้องกันมลพิษ พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กล่าวถึง 2 กลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่  2 กลุ่ม คือ 

1. เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่อได้รับฝุ่นละอองมากๆ ก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองได้

 

1. กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหืด โรคปอด โรคถุงลมอักเสบ และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน 

ทั้งสองกลุ่มจำเป็นต้องระมัดระวัง และไม่ควรออกนอกอาคาร อยู่กลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงดีที่สุด หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันโรค แต่หากในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ ฯลฯ กลุ่มนี้ไม่ควรออกช่วงที่ทางกรมควบคุมมลพิษประกาศเตือนจะดีที่สุด แต่หากต้องออกไปและรู้สึกว่าไม่สบายตัว รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะมีความเสี่ยงโรคกำเริบได้ 

ดังนั้น หากช่วงนี้ใครยังหาซื้อหน้ากาก N95 ไม่ได้ อาจใช้หน้ากากธรรมดาประกบกับกระดาษทิชชู 2 แผ่น แทนก่อนได้ 

 

วิธีการใส่หน้ากากอนามัยแบบ N95 

• ถือหน้ากากอนามัยไว้ในอุ้งมือ แล้วครอบหน้ากากบริเวณปากและจมูก 

• ดึงสายรัดของหน้ากากอนามัยที่อยู่ด้านล่างคล้องศีรษะแล้วดึงลงไปบริเวณใต้ใบหู จากนั้นดึงสายรัดเส้นบนคล้องศีรษะให้อยู่บริเวณหลังศีรษะ แล้วบีบบริเวณเส้นลวดให้พอดีกับจมูก 

• ตรวจสอบความเรียบร้อยว่าหน้ากากอนามัยแนบสนิทกับใบหน้าหรือไม่ 

• ทดสอบความพอดีของหน้ากากโดยใช้มือทั้งสองข้างทาบบริเวณหน้ากาก แล้วลองหายใจ หากหน้ากากพอดีกับใบหน้าเวลาหายใจเข้าหน้ากากจะยุบตัว หายใจออกหน้ากากจะพองตัวออก 

นอกจากนี้ ผู้ใช้ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยเมื่อรู้ว่าหน้ากากที่ใช้เปียก หรือโดนสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก และไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ หลีกเลี่ยงการล้างทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อ อีกทั้งยังไม่ควรใช้หน้ากากอนามัยร่วมกับผู้อื่น หลังจากเปลี่ยนหน้ากากอนามัยแล้วควรนำหน้ากากที่ใช้แล้วใส่ถุงปิดให้มิดชิดก่อนทิ้ง หรือทิ้งในถังขยะติดเชื้อ และล้างมือทำความสะอาดเพื่อป้องกันการตกค้างของเชื้อโรค 

 

วิธีการใส่หน้ากากอนามัยแบบทั่วไป 

• ล้างมือทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ติดอยู่บริเวณมือ 

• เลือกขนาดของหน้ากากอนามัยให้เหมาะสม หากเป็นเด็กควรเลือกขนาดเฉพาะเพื่อไม่ให้หน้ากากอนามัยใหญ่เกินไป 

• ใส่หน้ากากอนามัยให้พอดีกับใบหน้า โดยหันด้านที่มีสีออก และให้ด้านที่มีลวดอยู่ด้านบน หากเป็นหน้ากากอนามัยชนิดไม่มีสี ให้สังเกตรอยพับของหน้ากากอนามัย หากมุมของรอยพับชี้ลงด้านล่างด้านนั้นจะเป็นด้านนอกของหน้ากากอนามัย 

• ขณะใส่หน้ากากอนามัย หากเป็นหน้ากากแบบที่ต้องผูกปลายเชือกเข้าด้วยกัน ให้ผูกเชือกเส้นล่างที่บริเวณต้นคอ ส่วนเส้นบนผูกบริเวณศีรษะ หากเป็นชนิดสายยางยืด ให้คล้องที่หูทั้งสองข้าง แล้วบีบบริเวณเส้นลวดให้พอดีกับจมูก จะทำให้หน้ากากอนามัยพอดีกับใบหน้า 

• ดึงหน้ากากอนามัยให้ปิดบริเวณปาก จมูก และคาง เป็นอันเรียบร้อย